ประวัติสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) The Association Of Domestic Travel (ADT)
 

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 โดยมีความมุ่งหวังที่จะ

• ร่วมกันสร้างความศรัทธาให้เกิดกับองค์กร ด้วยการทำงานที่โปร่งใส และทุ่มเท

• ร่วมกันปลุกกระแสไทยเที่ยวไทย ให้เป็นกระแสท่องเที่ยวหลักของคนไทยในประเทศสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย และการทำงานที่สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

• ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรท่องเที่ยวของรัฐและเอกชนอย่างสร้างสรรค์

• ดำเนินกิจกรรมโดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมการตลาด การพัฒนารายการนำเที่ยวและการยกระดับมาตรฐานการบริการดำเนินกิจกรรมอื่นใดที่จะปกป้องให้ได้ประโยชน์และนำมาซึ่งความเป็นปึกแผ่นในการประกอบอาชีพของสมาชิก

 

วัตถุประสงค์ และพันธกิจ

1.สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

2.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอก

3.เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบธุรกิจของหมู่มวลสมาชิก

4.ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาการวิจัย การจัดอบรมเผยแพร่วิชาการ เทคโนโลยีและข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยให้แก่สมาชิกหรือจัดเป็นบริการแก่สาธารณะ

5.ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

6.ดำเนินกิจกรรมโดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมการตลาดการพัฒนารายการนำเที่ยว และยกระดับมาตรฐานการบริการ

7.ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานองค์การท่องเที่ยวทั้งของรัฐและเอกชนอย่างสร้างสรรค์

8.ดำเนินกิจกรรมอื่นใดที่จะปกป้องและนำมาซึ่งความเป็นปีกแผ่นในการประกอบอาชีพของสมาชิก 

 
วิสัยทัศน์ พันธกิจ และปรัชญาการบริหาร
 
วิสัยทัศน์ : 
ท่องเที่ยวไทยมั่นคง องค์กร (สทน.) เข้มเเข็ง สมาชิกมั่งคั่ง

ข้อบังคับ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ  

สำเนาข้อบังคับฉบับสมบูรณ์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ออกเมื่อ 31 มกราคม 2565 ดาวน์โหลดที่นี่ >>>  

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ จัดตั้งตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 และอยู่ในความควบคุมดูแลของ สำนักงานทะเบียนสมาคมการค้า ประจำกรุงเทพมหานคร
หมวดที่ 1 ความทั่วไปข้อ 1 ชื่อของสมาคม : สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ” ใช้อักษรย่อว่า “สทน.” เขียนชื่อเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า “THE ASSOCIATION OF DOMESTIC TRAVEL” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ดิ แอสโซซิเอชั่น ออฟ โดเมสติค ทราเวล” ใช้ภาษาอังกฤษย่อว่า “ADT” คำว่า “สมาคม” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายความถึง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ

ข้อ 2 สำนักงานของสมาคม : ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 599/29 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. (662) 192-1924-9 โทรสาร. (662) 192-1951-2

ข้อ 3 ตราของสมาคม : มีเครื่องหมายเป็นรูปลูกโลก และมีรูปมือจับประสานกันอยู่ ทางด้านล่างของลูกโลก โดยรูปทั้ง 2 นี้ จะอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม ภายนอกกรอบจะมีตัวหนังสือชื่อของสมาคมเป็นภาษาไทย และด้านล่างข้างนอกกรอบจะมีหนังสือชื่อของสมาคมเป็นภาษาอังกฤษ เป็นรูปดังนี้.-

อ่านเพิ่มเติม



หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์
ข้อ 4 สมาคมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้-.
4.1 สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวไทย
4.2 สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆรวมทั้งเจรจาทำ ความตกลงกับบุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการ ประกอบธุรกิจของ หมู่ มวล สมาชิก
4.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การวิจัย การจัดอบรมเผยแพร่วิชาการ เทคโนโลยี และข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยให้แก่สมาชิก หรือจัดเป็นบริการแก่สาธารณะ
4.4 ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย
4.5 ดำเนินกิจกรรมโดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมการตลาด การพัฒนารายการนำเที่ยว และยกระดับมาตรฐานการบริการ
4.6 ให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์การท่องเที่ยวทั้งของรัฐและเอกชนอย่างสร้างสรรค์
4.7 ดำเนินกิจกรรมอื่นใดที่จะปกป้อง และนำมาซึ่งความเป็นปึกแผ่นในการประกอบอาชีพของสมาชิก

หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ
ข้อ 5 ประเภทของสมาชิก : สมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. สมาชิกสามัญ
2. สมาชิกวิสามัญ
3. สมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 6 คุณสมบัติของสมาชิก
6.1 สมาชิกสามัญ มี 2 ประเภท
       6.1.1 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศ
       6.1.2 ผู้ประกอบธุรกิจสถานที่พัก โรงแรม รีสอร์ท เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยว
6.2 สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ สมาคม ชมรม ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ
6.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลธรรมดา ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเป็นผู้ที่มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการ ของสมาคมมีมติให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ และบุคคลนั้นตอบรับคำเชิญนั้นเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 7 การสมัครเข้าเป็นสมาชิก : ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญของสมาคมจะต้องยื่นใบสมัครต่อเลขาธิการ หรือ กรรมการผู้ที่ทำหน้าที่แทนเลขาธิการตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้ โดยมีสมาชิกสามัญเป็นผู้รับรองอย่างน้อย 2 ราย

ข้อ 8 การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก: ให้เลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ของสมาคมในคราวต่อไปหลังจากที่ได้รับใบสมัคร เมื่อคณะกรรมการสมาคมมีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ให้แจ้งผู้นั้นทราบภายใน กำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้ลงมติ

ข้อ 9 วันเริ่มสมาชิกภาพ : สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงเรียบร้อยแล้ว หรือตอบรับคำเชิญ แล้วแต่กรณี

ข้อ 10 สมาชิกที่เป็นนิติบุคคล : สมาชิกที่เป็นนิติบุคคล จะต้องแต่งตั้งบุคคลธรรมดาที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น ไม่เกิน 2 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ และใช้สิทธิแทนนิติบุคคลนั้น ในการออกเสียงลงมติในการประชุมใหญ่ ออกเสียงเลือกตั้ง หรือสมัครเข้ารับเลือกตั้ง ในการนี้ตัวแทนจะมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน หรือแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ไม่เกิน 1 ราย บุคคลเดียวกันจะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนสมาชิกเกินหนึ่งรายมิได้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนนิติบุคคล สมาชิกจะต้องแจ้งให้สมาคมฯ ทราบเป็นหนังสือถึงการเปลี่ยนแปลงไม่ต่ำกว่า 30 วันก่อนวันใช้สิทธิ เพื่อออกเสียงลงมติในการประชุมใหญ่ ออกเสียงเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกตั้ง

ข้อ 11 ตัวแทนของนิติบุคคล : ตามข้อ 10 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
11.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
11.2 ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร
11.3 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
11.4 ไม่เคยเป็นบุคคลที่ต้องโทษจำคุก พิพากษาถึงที่สุดของศาลมาก่อน เว้นแต่ความผิดลหุโทหรือ ความผิดที่อัตราโทษไม่สูงกว่า ความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
11.5 ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียจของสังคม
11.6 เป็นผู้ที่มีความประพฤติเรียบร้อย

ข้อ 12 การขาดสมาชิกภาพ : สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุด ในกรณีดังต่อไปนี้
12.1 ตาย หรือ สิ้นสภาพนิติบุคคล
12.2 ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6.1 หรือ 6.2 แล้วแต่กรณี
12.3 ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม
12.4 ต้องพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
12.5 คณะกรรมการของสมาคมลงมติให้ลงชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
       ก. กระทำการใดๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเจตนา
       ข. เจตนากระทำการละเมิดข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งของสมาคม หรือกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างร้ายแรง
       ค. ไม่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปี หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่สมาชิกจำเป็นต้องจ่าย หลังจากสมาคมได้มีจดหมายเดือนให้ชำระไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน

ข้อ 13 สมาชิกรายใดที่ถูกลบชื่อออกจากสมาคม : ตามข้อ 12.5 อาจสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ได้ หลังจากได้ถูกลบชื่อจากทะเบียนสมาชิกไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจะต้องจ่ายค่าบำรุงสมาคมและหนี้สินที่ค้างชำระ

ข้อ 14 สมาชิกรายใดที่ลาออก : ตามข้อ 12.3 อาจสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้อีกหลังจากลาออกไปแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงหรือหนี้สินที่ค้างชำระ

ข้อ 15 การรับกลับเข้าเป็นสมาชิก : ตามข้อ 13 และข้อ 14 ทั้งสองกรณี คณะกรรมการของสมาคมจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติตามความเหมาะสม

ข้อ 16 ทะเบียนสมาชิก : ให้นายทะเบียนหรือกรรมการที่ได้รับมอบหมาย จัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคม โดยอย่างน้อยให้ มีรายการดังต่อไปนี้
1. ชื่อและสัญชาติของสมาชิก
2. ชื่อที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ และประเภทของธุรกิจ
3. ที่ตั้งสำนักงานของสมาชิก
4. วันที่เข้าเป็นสมาชิก

หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงสมาคม

ข้อ 17 สมาชิกต้องชำระเงิน ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมประจำปี: ดังนี้
สมาชิกสามัญ        ค่าลงทะเบียน        2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน)
                               ค่าบำรุงประจำปี    3,500 บาท (สามพันห้าร้อยบาทถ้วน)
สมาชิกวิสามัญ     ค่าลงทะเบียน         2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน)
                              ค่าบำรุงประจำปี     2,500 บาท  (สองพันห้าร้อยบาทถ้วน)

ข้อ 18 การชำระค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงประจำปี: สมาชิกต้องชำระค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงประจำปีครั้งแรก ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งมติรับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และชำระค่าบำรุงสมาคมประจำปีครั้งต่อไปภายในวันที่ 31 มกราคม ของปีปฏิทินนั้น

ข้อ 19 ค่าบำรุงพิเศษ: สมาคมอาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจำนวนเท่าใดจากสมาชิกก็ได้เป็นครั้งคราว โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด

ข้อ 20 สมาชิกกิตติมศักดิ์ : ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงใดๆ ทั้งสิ้น

หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 21 สิทธิของสมาชิก :
21.1 ได้รับความช่วยเหลือ และการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคม จากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้
21.2 เสนอความคิดเห็น หรือให้คำแนะนำต่อสมาคมหรือคณะกรรมการในเรื่องใดๆ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อนำมาซึ่งความ เจริญรุ่งเรืองของสมาคม
21.3 ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการสมาคม หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ
21.4 เข้าร่วมประชุมอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซักถามกรรมการ เสนอญัตติในการประชุมใหญ่สมาชิก
21.5 มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคม
21.6 สมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ และมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสมาคม

ข้อ 22 หน้าที่ของสมาชิก :
22.1 ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งของสมาคม มติที่ประชุมใหญ่ มติคณะกรรมการ และหน้าที่ซึ่งตนได้รับมอบหมายจากสมาคม ด้วยความซื่อสัตย์โดยเคร่งครัด
22.2 ดำรงรักษาเกียรติ และผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของสมาคม ตลอดจนต้องรักษาความลับในข้อประชุม หรือวิธีการของสมาคม ไม่เปิดเผยข้อความซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคมโดยเด็ดขาด
22.3 ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของสมาคมให้เจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ
22.4 ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามกำหนด
22.5 สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนชื่อ ชื่อนามสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนแปลงประเภทธุรกิจเลิก ประกอบธุรกิจ หรือเปลี่ยนผู้แทน นิติบุคคล จะต้องแจ้งเลขาธิการทราบเป็นหนังสือ ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่มีการเปลี่ยนแปลง

หมวดที่ 6 คณะกรรมการของสมาคม

ข้อ 23 การเลือกตั้งคณะกรรมการของสมาคม
23.1 คณะกรรมการของสมาคม ประกอบด้วยสมาชิกสามัญ ประจำปี มีจำนวนไม่เกิน 25 คนเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสมาคม อุปนายกสมาคม เลขาธิการสมาคม เหรัญญิก นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ ปฎิคม และกรรมการกลาง
23.2 การเลือกตั้งนายกสมาคมให้กระทำด้วยวิธีลงคะแนนลับหากปรากฏว่าได้คะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีลงคะแนนใหม่
23.3 นายกสมาคมจะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเกินกว่าสองคราวติดต่อกันมิได้
23.4 ให้นายกสมาคมที่มาจากการเลือกตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมซึ่งมาจากสมาชิกสามัญโดยคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งได้คราวละไม่เกิน 2 ปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้วอาจได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้
23.5 คณะกรรมการของสมาคมฯประกอบด้วยผู้ประกอบการที่มาจากบริษัทนำเที่ยวไม่น้อยกว่า 80%ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
23.6 ตำแหน่งนายกสมาคมต้องมาจากสมาชิกสามัญที่มีคุณสมบัติตามข้อบังคับที่ 6.1.1 เท่านั้น

ข้อ 24 การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ : กรรมการของสมาคมย่อมพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
24.1 ครบกำหนดออกตามวาระ
24.2 ลาออกโดยคณะกรรมการของสมาคมได้ลงมติอนุมัติแล้ว
24.3 ขาดการประชุมคณะกรรมการติดต่อกัน 3 ครั้ง (ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน) โดยมิได้แจ้งให้ทาง สมาคมทราบ และคณะกรรมการมีมติให้ ถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการ
24.4 พ้นจากการเป็นตัวแทนของสมาชิก ซึ่งเป็นสมาชิกสามัญของสมาคม
24.5 ขาดจากสมาชิกภาพ
24.6 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตามมาตรา 33 แห่ง พระราชบัญญัติสมาคมการค้าพ.ศ. 2509
24.7 ต้องพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
24.8 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนจากการเป็นกรรมการด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุม

ข้อ 25 ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลง : ก่อนครบกำหนดวาระไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ให้นายกสมาคมมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญ เข้าดำรงตำแหน่ง กรรมการของสมาคมได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ที่ตนแทน

ข้อ 26 กรณีที่กรรมการของสมาคมลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด : ให้ถือว่าคณะกรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งกรรมการ แต่ให้รักษาการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะได้คณะกรรมการใหม่ คณะกรรมการรักษาการนี้ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมและคณะกรรมการ ตามข้อบังคับหมวด 6 ข้อ 23 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งคณะกรรมการ เป็นคณะกรรมการรักษาการ

ข้อ 27 ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยเดือนละครั้ง : ในกรณีจำเป็นนายกสมาคม อาจเรียกประชุมพิเศษได้ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม คณะกรรมการ ถ้านายกฯ ไม่อยู่ให้อุปนายกเป็นประธานแทน ถ้าทั้งนายกฯ และอุปนายกไม่อยู่ให้คณะกรรมการ เลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธาน ในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น

ข้อ 28 องค์ประชุมของคณะกรรมการ : การประชุมของคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะนับเป็น องค์ประชุม ในกรณีที่มีจำนวนกรรมการในคณะกรรมการน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด กรรมการที่เหลืออยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะในเรื่อง ที่จะตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวน หรือนัดเรียกประชุมใหญ่ หรือกระทำกิจการอันสมควรทุกอย่างเพื่อ ปกป้องรักษาประโยชน์ของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 29 มติของที่ประชุมคณะกรรมการ : ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก หนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 30 การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ :
30.1 นายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมท่องเที่ยวอื่นๆ มิได้
30.2 เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการชุดใหม่หรือผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ยื่น . จดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ต่อ นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง
30.3 การส่งมอบหน้าที่ให้คณะกรรมการชุดใหม่นั้นจะต้องทำภายใน 30 วัน หลังจากวันเลือกตั้ง โดยการส่งมอบนั้นจะต้องทำการส่งมอบต่อหน้า สักขีพยาน และ การส่งมอบจะประกอบไปด้วย บัญชีทรัพย์สิน, งบดุล, บัญชีรับจ่าย ณ สิ้นวันก่อนการส่งมอบและงบการเงินที่ผู้สอบบัญชี รับรองหลังสุดก่อนวันส่งมอบ
30.4 ในกรณีที่นายทะเบียนสมาคมการค้า ยังมิได้รับการจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ภายใน 30 วัน ให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการไปจนกว่า นายทะเบียนสมาคมการค้าได้รับจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อย

ข้อ 31 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ : คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่วางนโยบาย และดำเนินงานของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สมาคม รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
31.1 จัดดำเนินกิจการและทรัพย์สินของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของที่ประชุม
31.2 เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการ
31.3 วางระเบียบ ข้อบังคับการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการประกอบอาชีพของสมาชิก รวมทั้งตราเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ เพื่อรับรอง มาตรฐานคุณภาพของสินค้าและบริการ
31.4 พิจารณาลงโทษสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคม ว่าด้วย หน้าที่ของสมาชิก ตามข้อ 22.1 - 22.5 ให้คณะกรรมการพิจารณาลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ในการทักท้วงด้วยวาจา หรือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ตลอดจนเพิกถอนสมาชิกภาพของสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสมาคมนั้นได้ โดยต้องให้โอกาสแก่สมาชิกผู้ถูกพิจารณาลงโทษ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยต่อคณะกรรมการ ผลการตัดสินโดยมติคณะกรรมการจะต้องแจ้งให้สมาชิกผู้ถูกพิจารณานั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษร และผลการตัดสินนั้นถือเป็นที่สิ้นสุด
31.5 คณะกรรมการสมาคมมีหน้าที่ในการพิจารณาลงโทษสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคมหน้าที่ ของสมาชิกตามข้อ 22.1 -22.5 ให้คณะกรรมการพิจารณาลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ในการ ทักท้วงด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ตลอดจนเพิกถอนสถานะสมาชิกภาพ ของสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสมาคมนั้นได้และมีผลทันทีตามมติคณะกรรมการสมาคม ทั้งนี้การพิจารณาลงโทษสมาชิกดังกล่าวจะต้องให้ โอกาสแก่สมาชิกผู้ถูกพิจารณาลงโทษ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยต่อคณะกรรมการ และผลการตัดสินโดยมติคณะกรรมการจะต้องแจ้งให้ สมาชิกผู้ถูกพิจารณานั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษรและผลการตัดสินถือเป็นที่สิ้นสุด

31.6 สมาชิกที่ถูกคณะกรรมการสมาคมมีมติให้เพิกถอนสถานะสมาชิกภาพสามารถที่จะยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกใหม่ได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะ กรรมการสมาคมแต่ต้องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือนหลังจากมติเพิกถอนสถานะสมาชิกภาพนั้นและต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและ ค่าบำรุงเช่นเดียวกับการสมัครสมาชิกใหม่

ข้อ 32 อำนาจหน้าที่ของกรรมการในตำแหน่งต่างๆ : อำนาจหน้าที่ของกรรมการในตำแหน่งต่างๆ มีดังนี้
32.1 นายกสมาคม มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อ บังคับ และระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคม เป็นผู้แทนของสมาคมใน กิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเป็นประธานในที่ประชุมของคณะกรรมการ ตลอดจนในที่ประชุมใหญ่สมาชิก
32.2 อุปนายกสมาคม มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวง อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม และเป็นผู้ทำหน้าที่แทน นายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่ อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
32.3 เลขาธิการ มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ เก็บรักษาเอกสารต่างๆของสมาคม เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการ และที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
32.4 เหรัญญิก มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงิน ทำบัญชีการเงิน เก็บรักษาและ จ่ายพัสดุของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการ จะได้มอบหมาย
32.5 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิก และทะเบียนต่างๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
32.6 ปฏิคม มีหน้าที่รักษาสำนักงานของสมาคม รักษาความเรียบร้อยของสถานที่ รักษาสมุดเยี่ยมจัดสถานที่ประชุม ดูแลต้อนรับ ตลอดจนปฏิบัติ หน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
32.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเชิญชวนหาสมาชิก โฆษณากิจการ และผลงานด้านต่าง ๆ ของสมาคมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
32.8 กรรมการกลาง มีหน้าที่ช่วยเหลือ และประสานงานทั่วๆ ไป ตามที่คณะกรรมการจะได้รับมอบหมาย

หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่

ข้อ 33 การประชุมใหญ่ : การประชุมใหญ่ ให้หมายถึง การประชุมสมาชิกของสมาคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
33.1 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี คือ การประชุมใหญ่ที่จะต้องให้มีขึ้นครั้งหนึ่งทุกระยะเวลา 12 เดือน
33.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ คือ การประชุมใหญ่ครั้งอื่นๆ นอกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมสมาชิกประจำเดือน

ข้อ 34 กำหนดการประชุมใหญ่: กำหนดการประชุมใหญ่มีดังนี้
34.1 ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่สิ้นปีการบัญชีของสมาคม เป็นประจำทุกๆ ปี (31 ธันวาคม วันสิ้นปี)
34.2 ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควร หรือสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแสดงความจำนงโดยทำการ ร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ ให้คณะกรรมการของสมาคมนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลงมติหรือวันที่ได้รับหนังสือ

ข้อ 35 การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม : คณะกรรมการจะต้องส่งข้อความบอกกล่าวถึง วัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ โดยทางจดหมาย และ/หรือ โทรสาร และ/หรือ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ณ ที่อยู่ของสมาชิกตามที่ปรากฏในทะเบียน หรือส่งให้ถึงตัวสมาชิก ก่อนกำหนดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน 

การจัดส่งหนังสือบอกกล่าวตามวรรคแรก ให้ส่งสำเนาบันทึกรายงานการประชุมใหญ่ครั้งที่แล้ว (ถ้ามี) ไปด้วย ในกรณีที่เป็นการนัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องแนบสำเนารายงานประจำปี และสำเนางบแสดงฐานะการเงิน รวมทั้งสำเนางบรายได้และค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วเพิ่มเติมไปด้วย

ข้อ 36 องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ : ในการประชุมใหญ่ จะต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือเป็น องค์ประชุม

ข้อ 37 กรณีที่การประชุมในครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม หากล่วงพ้นเวลานัดไปแล้ว 1 ชั่วโมง ยังมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่ คราวนั้นได้เรียกนัด เพราะสมาชิกร้องขอให้เลิกการประชุมใหญ่นั้น ถ้ามิใช่เพราะสมาชิกร้องขอให้เลื่อนการประชุม และให้ทำการบอกกล่าวนัดประชุม วัน เวลา และสถานที่ประชุมใหญ่นี้อีกครั้งหนึ่ง ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่คราวแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้จะมีสมาชิกมามากน้อยเพียง ใดก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 38 ประธานในที่ประชุม : ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกผู้มีอาวุโสตามลำดับ ทำหน้าที่ แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มี กรรมการอยู่ในที่ประชุมเลย ก็ให้เลือกตั้งสมาชิกสามัญคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น

ข้อ 39 วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ : สมาชิกสามัญเท่านั้น ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ และสมาชิกสามัญรายหนึ่งๆ มีคะแนนเสียงหนึ่งเสียง

 การออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ให้ถือปฏิบัติเป็น 2 กรณี คือ
 1. โดยวิธีเปิดเผย ให้ใช้วิธีชูมือ
 2. โดยวิธีลงคะแนนลับ ให้ใช้วิธีเขียนบัตรลงคะแนน และจะกระทำได้เมื่อคณะกรรมการของสมาคม หรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกสามัญที่มาประชุมร้องขอ                                   
ยกเว้นกรณีจัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่า วิธีการออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนด เป็นวิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่           


ข้อ 40 มติที่ประชุมใหญ่ : นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 41 กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี : มีดังนี้
41.1 รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
41.2 พิจารณารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินกิจการของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี (ถ้ามี)
41.3 พิจารณาอนุมัติงบแสดงฐานะการเงิน และงบรายได้และค่าใช้จ่าย
41.4 เลือกตั้งคณะกรรมการ และคณะกรรมการ (เมื่อครบวาระ)
41.5 เลือกตั้งผู้สอบบัญชีของสมาคมประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน
41.6 กิจการที่ต้องกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุมใหญ่

ข้อ 42 กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่วิสามัญ : ได้แก่ กิจการต่างๆ ที่จะต้องกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุมแต่ไม่อาจ หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถ จัดทำได้ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ข้อ 43 กิจการอันพึงกระทำในการประชุมสมาชิกประจำเดือน : ได้แก่ กิจการอันเกี่ยวกับการปฏิบัติธุรกิจทั่วไปของสมาคม นอกจากกิจการที่จำเป็นจะ ต้องกระทำได้ก็แต่โดยการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 44 การจัดทำรายงานบันทึกการประชุม : รายงานการประชุมคณะกรรมการ การประชุมใหญ่ การประชุมสมาชิกอื่นๆ และการประชุมอนุกรรมการ ให้จด บันทึกไว้ทุกครั้งและต้องเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับรองในคราวที่มีการประชุมครั้งต่อไป รายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองมาแล้ว สมาชิกจะดูได้ในวันและ เวลาทำการ

หมวดที่ 8 การเงิน เงินทุนพิเศษ และการบัญชีของสมาคม

ข้อ 45 วันสิ้นปีทางบัญชี : ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม

ข้อ 46 การจัดทำงบการเงิน : ให้คณะกรรมการจัดทำงบการเงินที่เป็นอยู่ ณ วันสิ้นปีทางบัญชีนั้น แล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และผู้สอบบัญชี จะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จ ก่อนวันประชุมใหญ่ประจำปี ไม่น้อยกว่า 30 วัน
งบการเงิน ซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้ว คณะกรรมการต้องดำเนินการเสนอต่อที่ ประชุมใหญ่สามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
เมื่อเสนองบการเงิน ให้คณะกรรมการเสนอรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนิน งานของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย
ให้สมาคมส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบการเงิน ไปยังนายทะเบียนสมาคมการค้า ประจำกรุงเทพมหานคร ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่
อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบการเงินไว้ที่สำนักงานของสมาคม เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้

ข้อ 47 อำนาจของผู้สอบบัญชี : ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบสรรพสมุด บัญชี และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาชิกและมีสิทธิสอบถามกรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องช่วยเหลือและให้ความสะดวกทุก ประการ เพื่อการตรวจสอบเช่นว่านั้น

ข้อ 48 การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน : จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคม และให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเหรัญญิก

ข้อ 49 การเงินของสมาคม :                                                                                                                                                                                                                                                                                            49.1 เงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์ ที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งสมาคมนี้ตั้งอยู่ โดยนำฝากในนามของสมาคมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคม        49.2 ให้มีวงเงินสำรองจ่ายสำหรับกิจการของสมาคม ไม่เกินวงเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ในการนี้ ให้เหรัญญิก หรือผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ เป็นผู้รับผิดชอบ                  49.3 นายกสมาคมมีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมหรือวัตถุประสงค์เดียวกันได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) เว้นแต่กรณีเร่งด่วน และได้รับความเห็นชอบจากคณะ              กรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน รวมถึงเหรัญญิก การสั่งจ่ายเงินนี้ต้องมีเหรัญญิกร่วมรับผิดชอบ                                                                                                                                                                            49.4 การฝากและการถอนเงินจากธนาคาร ให้อยู่ในอำนาจของนายกสมาคมหรืออุปนายก หรือเหรัญญิก จำนวนสองในสามคน ให้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินเกี่ยวกับกิจการของสมาคมได้ไม่เกินจากอำนาจตาม    ข้อบังคับ หรือตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตามข้อบังคับที่ 49.3

ข้อ 50 เงินทุนพิเศษ : สมาคมอาจหาเงินทุนพิเศษเพื่อมาดำเนินกิจการ และส่งเสริมความก้าวหน้าของสมาคมได้ โดยการเชื้อเชิญบุคคลภายนอกและสมาชิกร่วมกันบริจาค หรือกระทำโดยการอื่นใดตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร และไม่ขัดต่อกฎหมาย

หมวดที่ 9 การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

ข้อ 51 การแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือเพิ่มเติมข้อบังคับ : จะกระทำได้แต่โดยมติที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด

ข้อ 52 การเลิกสมาคม : สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้                                                                                                                                                                                                                52.1 เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด                                                                                                                                          52.2 เมื่อล้มละลาย                                                                                                                                                                                                                                                                                                        52.3 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้เลิก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509                                                                                                                                              52.4 ห้ามนำที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนโฉนด เลขที่ 4234 เลขที่ดิน 2987 หน้าสำรวจ 170 ตำบลจตุจักร อำเภอจตุจักร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 24.80 ตารางวา แปลงที่ BB-2 ไปจำนำ จำนอง แบ่ง        ส่วนเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ของบุคคล หรือ คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้นับจากวันนี้เป็นต้นไป หากสมาคมนี้ต้องเลิกไปเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าว ตามระเบียบข้อบังคับ ข้อ 52 ให้นำโฉนดที่ดิน    และทรัพย์สินดังกล่าว ยกให้แก่มูลนิธิสายใจไทย หรือมูลนิธิชัยพัฒนาเท่านั้น โดยห้ามแก้ไขข้อบังคับเป็นอื่นใด

ข้อ 53 การชำระบัญชี : เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไป เพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวในข้อ 52 การชำระบัญชีของสมาคม ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 มาใช้บังคับ                    ในกรณีที่สมาคมต้องเลิกไปตามข้อ 52.1 ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีเสียด้วย และหากต้องเลิกไปตามข้อ 52.3 ให้กรรมการทุกคนในคณะกรรมการชุดสุดท้าย ที่ได้จด          ทะเบียนเป็นกรรมการต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานครเป็นผู้ชำระบัญชี หากมีทรัพย์สินของสมาคมเหลือจากการชำระบัญชี ให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทย ที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยว    กับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใดหรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่

หมวดที่ 10  บทเฉพาะกาล

ข้อ 54 เมื่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานครได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมแล้ว ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคน ทำหน้าที่คณะกรรมการ(ชั่วคราว) จนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้ ซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นภายในกำหนดเวลา 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมแล้ว ภายใต้บังคับแห่งความในวรรคแรก กรณีที่มีการประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการชุดแรกในช่วงเวลาน้อยกว่า 3 เดือน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม ให้ถือเอาวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมเป็นวันตั้งต้นคำนวณวาระกรรมการตามข้อ 23 วรรคสาม

ข้อ 55 เพื่อประโยชน์แห่งความในข้อบังคับข้อ 7 ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคนทำหน้าที่เป็นสมาชิกสามัญ

ข้อ 56 ให้ใช้ข้อบังคับนี้ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร ได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมเป็นต้นไป